การวางผังอาคาร กับ งานก่อสร้าง

"การวางผังอาคาร เป็นการกำหนดตำแหน่งและขอบเขตของสิ่งก่อสร้างโดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้าง เพื่อให้สามารถก่อสร้างบ้านบนพื้นที่ดินได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องตามแบบก่อสร้าง"

        งานวางผังอาคาร เป็นการกำหนดตำแหน่งและขอบเขตของสิ่งก่อสร้างที่จะสร้างโดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้างเพื่อให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่เจ้าของบ้าน ผู้ออกแบบ (สถาปนิก) วิศวกร ผู้รับเหมา รวมถึงบริษัทรับเหมางานเสาเข็ม (ถ้ามี) ได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญก่อนจะลงมือก่อสร้างโครงสร้างอาคาร (เช่น เสาเข็ม ฐานราก ตอม่อ) และจะทำหลังจากการเตรียมพื้นที่ดินเรียบร้อยแล้ว (เช่น ถมดิน และรอระยะเวลาให้ดินเซตตัวดีแล้ว ปรับระดับดินแล้ว)

  

ภาพ: แบบผังพื้นชั้นล่าง (บน) และแบบผังฐานรากอาคาร (ล่าง)
ที่มา : แบบบ้านประหยัดพลังงาน กระทรวงพลังาน

​        ขณะการวางผังอาคารนี้ควรตรวจสอบหมุดหลักเขตที่ดินกับโฉนดที่ดินว่าครบถ้วนตามแบบหรือไม่ โดยเริ่มจากหาตำแหน่งเสาต้นแรกที่จะเป็นจุดอ้างอิง กำหนดด้านเริ่มที่จะให้ขนานกับแนวเขตที่ดิน (ว่าจะขนานกับถนนด้านหน้าบ้านหรือขนานกับที่ดินด้านข้าง) จากนั้นใช้หลักมุมฉากเพื่อหาแนวอาคารอีกด้าน (อาจใช้กล้องทีออโดไลต์ (กล้องวัดมุม) หรือใช้กฏ 3 : 4 : 5 สร้างมุมฉากก็ได้) แล้วจึงหาตำแหน่งกึ่งกลางของฐานราก (หรือเสาอาคาร) ถัดไปจนครบทุกตำแหน่ง สำหรับอาคารขนาดเล็กอาจใช้วิธีขึงเอ็นให้เห็นเป็นแนว จากนั้นจึงทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งฐานรากให้เห็นชัดเจน (อาจใช้วิธีพ่นสีเพื่อแสดงตำแหน่งฐานราก) โดยตรวจสอบอีกครั้งว่าองค์ประกอบอาคารที่ยื่นออกมาตามแบบนั้นให้ถูกต้องตามแบบก่อสร้าง เมื่อได้ระยะที่จะวางผังแล้วจึงตอกหลักผังให้แน่นและมั่นคง ไม่เกิดการเคลื่อนที่ในภายหลัง ในขั้นตอนนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับระยะต่างๆ ให้เหมาะสม หากพบอุปสรรคที่หน้างาน (เช่น แนวต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้หรืออยู่ในบริเวณที่ตรงกับแนวอาคารที่จะก่อสร้าง แต่ต้องการคงไว้ ไม่อยากตัดทิ้ง) อาจพิจารณาขยับผังการก่อสร้างให้เหมาะสม โดยผู้รับเหมาจะนำเสนอแนวทางแก้ไขให้ผู้ออกแบบเซ็นชื่อรับรอง แล้วจึงดำเนินการกำหนดผังการก่อสร้าง

ภาพ: ตัวอย่างการกำหนดแนวผังบริเวณก่อสร้าง โดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้าง หมุดหลักเขตที่ดิน แนวเขตที่ดิน และตำแหน่งฐานราก


ภาพ: ตัวอย่างการขึงเอ็นและการพ่นสีเพื่อทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งฐานรากให้เห็นชัดเจน


  

ภาพ: ตัวอย่างการตอกหลักผังอาคาร การตีผังนอน และตำแหน่งศูนย์กลางฐานราก

​        สำหรับเจ้าของบ้านเอง การอ่านแบบแปลนของฐานรากได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถดูการวางผังรอบบริเวณการก่อสร้างของช่างเบื้องต้นได้ว่าตรงตามแบบไหม รวมถึงพิจารณาว่าระยะถอยร่นของแนวอาคารทุกด้าน (รวมทั้งส่วนที่ยื่นออกจากตัวอาคาร) ถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ดินจริงอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากที่ดินในโฉนดบ้าง เจ้าของบ้านจึงควรดูจากจุดอ้างอิงจุดแรกเป็นหลัก และพิจารณาว่าแนวอาคารด้านไหนที่วางตัวขนานกับแนวเขตที่ดิน แล้วจึงค่อยพิจารณาจุดอื่นๆ เทียบกับเส้นอ้างอิง ตรวจสอบศูนย์เสา ระยะห่างระหว่างเสา ระยะรวมทั้งหมด ให้สัมพันธ์กันทั้งเรื่องของตำแหน่ง ทิศทาง และแนวฉาก โดยควรให้ผู้รับเหมาทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งแนวเสา พื้นที่ฐานรากให้ชัดเจน (ขึ้นอยู่กับการตกลงกันตั้งแต่แรก) เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบแนวผังอาคารว่าเป็นไปตามแบบหรือไม่

*เจ้าของบ้านอาจว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมาตรวจสอบให้เพื่อความมั่นใจ

        เมื่อติดตั้งการวางผังอาคารเสร็จ จะทำให้รู้ตำแหน่งระยะกึ่งกลางของเสาและฐานราก เพื่อให้สามารถดำเนินตามขั้นตอนการก่อสร้างบ้านให้เป็นไปตามแบบก่อสร้าง ได้บ้านที่ถูกต้องตามที่ได้ออกแบบไว้ และให้มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

   

ภาพ: ตัวอย่างการวางผังสำหรับอาคารขนาดเล็ก

ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
http://www.civilclub.net/articles/engineering/layout-plan.php
https://www.scribd.com/doc/232551081/วางผังอาคาร
http://oknation.nationtv.tv/blog/kakanoi/2008/05/23/entry-10 
http://www.tnk.ac.th/data%20file/Research/wijai2106-2109%202554.pdf



70K   Favorite   Print   Share  
            Change Password Change Password link-social signin-popupnew downloadplan-popupnew