3 ปัจจัยที่มีผลต่อการแตกร้าวรั่วซึมที่รอยต่อแผ่นผนังบ้าน Precast

"ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดรอยแตกร้าวบริเวณรอยต่อแผ่นผนังบ้านพรีคาสท์ (Precast) ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยการออกแบบที่ดีและการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน"

       ปัญหาที่มักพบเจอในบ้านโครงการต่าง ๆ ที่ก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์ (Precast) คือการแตกร้าวที่รอยต่อระหว่างแผ่นผนัง ซึ่งส่งผลให้มีน้ำฝนรั่วซึมตามมา โดยไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าของโครงการต่างไม่ต้องการให้เกิดปัญหานี้ เพราะการแก้ไขค่อนข้างยุ่งยากและต้องพึ่งพาช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนาน อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดรอยแตกร้าวอยู่ 3 เรื่องหลักที่สามารถออกแบบและควบคุมได้ ได้แก่ รูปแบบรอยต่อแผ่นผนัง วัสดุที่ใช้เชื่อมประสานรอยต่อ มาตรฐานการติดตั้ง ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะมีรายละเอียดการออกแบบแผ่นผนังและการติดตั้งที่แตกต่างกันไป รอยแตกร้าวจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยที่กล่าวมาเป็นสำคัญ

       รูปแบบรอยต่อแผ่นผนัง

       รอยต่อของระบบผนังสำเร็จรูปจะประกอบด้วยรอยต่อ 2 แนวคือ รอยต่อแนวนอนและรอยต่อแนวตั้ง โดยรูปแบบรอยต่อในแต่ละแนวจะต้องออกแบบรายละเอียดให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ในการติดตั้งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อยึดแผ่นผนังแต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน หรือยึดระหว่างแผ่นผนังกับพื้นเพื่อเป็นจุดถ่ายน้ำหนักระหว่างแผ่น รวมถึงเพื่อลดโอกาสการรั่วซึมของน้ำฝนที่สาดเข้าผนัง ยกตัวอย่างรูปแบบรอยต่อเช่น รูปแบบรอยต่อแบบเข้าลิ้น แบบบังใบ หรือรูปแบบเฉพาะตัวของผู้ผลิตนั้น ๆ

(ซ้าย) รูปแบบรอยต่อแนวตั้งระหว่างแผ่นผนัง SCG Precast ที่มีการฝัง Wire Loop ไว้ที่ด้านข้างของผนังแต่ละแผ่น โดยมีเหล็กข้ออ้อยเสียบที่แกนกลางเพื่อยึด Wire Loop (ขวา) ตัวอย่างรูปแบบรอยต่อแนวตั้งระหว่างแผ่นผนังพรีคาสท์ที่มีลักษณะเป็นบังใบ

รูปแบบรอยต่อแนวนอนระหว่างแผ่นผนัง SCG Precast ที่มีลักษณะเป็นบังใบ 

       วัสดุที่ใช้เชื่อมประสานรอยต่อ

       วัสดุเชื่อมประสานรอยต่อทำหน้าที่ยึดแผ่นผนัง Precast แต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน รวมถึงอุดปิดรอยต่อให้แนบสนิทเพื่อป้องกันน้ำและความชื้นซึมผ่านร่องรอยต่อเข้ามาสู่ภายในบ้าน โดยหากเป็นวัสดุเชื่อมประสานรอยต่อมักจะใช้ Non-Shrink Grout ซึ่งมีการหดตัวต่ำ มีความทึบน้ำ แข็งแกร่ง และมีแรงยึดเกาะสูง ยิ่งหากมีคุณสมบัติไหลตัวดีสามารถเข้าไปตามที่แคบๆ หรือลึกได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยลดปัญหาน้ำรั่วซึมได้มากเท่านั้น ส่วนวัสดุยาแนวรอยต่อจะนิยมใช้กาว PU ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงและทนทานต่อแสงแดด (UV) ได้ดี ทั้งนี้ผู้ผลิตบางรายอาจเลือกใช้วัสดุยาแนวประเภทอื่นอย่างซิลิโคนโดยพัฒนาคุณสมบัติให้มีแรงยึดเกาะ ความยืดหยุ่น และความทนทานมากขึ้น

รอยต่อระหว่างแผ่นผนังพรีคาสท์มักใช้ Non-Shrink Grout เป็นวัสดุเชื่อมประสาน โดยสำหรับระบบผนัง SCG Precast (ซ้าย) จะยาแนวรอยต่อทั้งสองด้านด้วย SCG Modified Silicone ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อแสงแดด (UV) และมีอายุการใช้งานมากกว่า PU ในขณะที่ระบบผนังพรีคาสท์โดยทั่วไป (ขวา) จะใช้ PU เป็นวัสดุยาแนว

       มาตรฐานการติดตั้ง

       ถึงแม้จะมีการออกแบบรูปแบบรอยต่อระหว่างแผ่นที่ดีและเลือกใช้วัสดุเชื่อมประสานที่มีคุณภาพสูงเพียงใด แต่เมื่อถึงขั้นตอนการติดตั้งแล้วไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ย่อมส่งผลต่อการเกิดรอยร้าวและน้ำรั่วซึมตามบริเวณรอยต่อไม่มากก็น้อย ดังนั้นการติดตั้งและเก็บงานรอยต่อที่ถูกวิธีได้มาตรฐานโดยทีมช่างที่มีความชำนาญเฉพาะทาง มีประสบการณ์ในการทำงาน ผ่านการอบรมงานติดตั้งและความปลอดภัยในการทำงานตามมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละราย รวมถึงการมีระบบการตรวจสอบคุณภาพงานตามมาตรฐานโดยผู้ผลิต จึงเป็นสิ่งสำคัญในงานก่อสร้างบ้านพรีคาสท์ไม่แพ้กัน

ควรมีการติดตั้งและเก็บงานรอยต่อที่ถูกวิธีได้มาตรฐานโดยทีมช่างที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

       สำหรับบ้านพรีคาสท์ หากควบคุมทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมาได้ ย่อมช่วยลดโอกาสที่จะเกิดรอยแตกร้าวระหว่างแผ่นผนังได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดรอยแตกร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่น การซ่อมแซมแก้ไขจะขึ้นอยู่กับความเสียหาย เช่น กรณีวัสดุยาแนวเสื่อมสภาพ ฉีกขาด หรือแยกตัวจากแผ่นผนัง ควรลอกวัสดุยาแนวเดิมออกแล้วยาใหม่ โดยให้ทีมช่างที่มีความชำนาญมาซ่อมแซมให้ แต่หากวัสดุเชื่อมประสานอย่าง Non-Shrink Grout แตกร้าว ควรแจ้งวิศวกรโครงการให้ดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม



24K   Favorite   Print   Share  
            Change Password Change Password link-social signin-popupnew downloadplan-popupnew