ติดฉนวนใยแก้วกันความร้อน แล้วทำไมบ้านยังร้อน?



สำหรับเจ้าของบ้านที่ซื้อฉนวนใยแก้วกันความร้อนมาติดตั้งบริเวณหลังคาหรือฝ้าเพดาน แล้วพบว่าบ้านไม่ได้เย็นขึ้นอย่างที่คิด ให้ลองหันมาดูปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความร้อนในบ้าน
รวมถึงช่องทางระบายความร้อนออกไปนอกบ้าน ทั้งนี้ อาจลองพิจารณาวิธีอื่นๆ ที่ช่วยลดความร้อนในบ้านด้วย

        ปัญหาบ้านร้อน นับเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่อาศัยเขตเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย วิธีแก้ปัญหาที่มักนึกถึงกันคือ การติดตั้ง “ฉนวนใยแก้วกันความร้อน” และเนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ประมาณ 70 % มักมาจากทางหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านจึงมักได้รับคำแนะนำให้ติดฉนวนกันความร้อนที่หลังคาหรือฝ้าเพดานชั้นบนสุด แต่ทั้งนี้อาจมีบางกรณีที่ซื้อฉนวนมาติดตั้งตามคำแนะนำแล้ว แต่ความร้อนในบ้านก็ไม่ได้ลดลง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ก่อนอื่น เจ้าของบ้านควรทำความเข้าใจถึงแหล่งกำเนิดของความร้อนภายในบ้านว่ามาจากส่วนใดได้บ้าง

ความร้อนในบ้านมาจากไหน
        โดยทั่วไป ความร้อนภายในบ้านส่วนใหญ่มักมาจากแสงแดดที่ส่งผ่านความร้อนเข้ามาในบ้าน ผ่านทางหลังคาและ ฝ้าเพดานชั้นบน อีกทางที่เข้ามาได้ง่ายคือ ผนังกระจกและประตูหน้าต่างกระจก ทั้งนี้ แสงแดดยังส่งผ่านความร้อนบางส่วนผ่านผนังทึบได้ด้วย โดยจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับค่ากันความร้อน หรือที่เรียกว่า “ค่า R” ของระบบผนังซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุและการติดตั้ง นอกจากนี้ การทำกิจกรรมประจำวันภายในบ้านก็ทำให้เกิดความร้อนได้ เช่น ความร้อนจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ความร้อนจากร่างกายคนเป็นต้น

ภาพ: แหล่งที่มาของความร้อนภายในบ้าน

ภาพ: ตัวอย่าง ค่า R ของระบบผนังต่างๆ

ภาพ: ตัวอย่าง ค่า R ของระบบหลังคาและฝ้าเพดาน

        ทำความรู้จักฉนวนใยแก้วกันความร้อน
        ฉนวนใยแก้วกันความร้อน ผลิตจากซิลิกาซึ่งเป็นวัตถุดิบจากแก้ว นำไปหลอมละลายแล้วปั่นเป็นเส้นใย มีคุณสมบัติทนและกันความร้อนได้ดีมากสามารถติดไฟได้แต่ไม่ลามไฟ (ตรงข้ามกับวัสดุกันความร้อนหลายชนิดที่ลามไฟได้รวดเร็ว) วัสดุเส้นใยแก้วเมื่อแตกตัวจะมีอนุภาคใหญ่เกินกว่าจะเข้าสู่ทางเดินหายในของมนุษย์ได้ จึงไม่นับเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งตรงกันข้ามกับใยหิน ผลิตภัณฑ์ฉนวนใยแก้วกันความร้อนที่ขายในท้องตลาด อาจมีลักษณะเป็นแผ่น หรือเป็นม้วน โดยจะมีทั้งรุ่นที่ผลิตมาสำหรับติดตั้งบนแปหลังคา ติดตั้งบนฝ้าเพดาน และติดตั้งที่ผนัง การใช้งานฉนวนใยแก้ว มีข้อควรระวังคือ ตัวฉนวนใยแก้วอาจทำให้ผิวหนังมีอาการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้วัสดุชนิดนี้ ดังนั้น ในการติดตั้งจึงควรสวมถุงมือและเสื้อผ้ามิดชิด เพื่อเลี่ยงการสัมผัสฉนวนใยแก้วโดยตรง

ภาพ: การติดตั้งฉนวนใยแก้วกันความร้อนบนหลังคาและฝ้าเพดาน

        หน้าที่ของฉนวนกันความร้อนใยแก้วคือ ช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้ผ่านเข้ามาในบ้าน โดยคุณสมบัติของตัวฉนวนจะมีค่ากันความร้อนหรือ “ค่า R” สูง (ค่า R จะมากขึ้นตามความหนาฉนวนด้วย) การติดตั้งฉนวนกันความร้อนจะเป็นการเพิ่มค่า R ให้กับบริเวณที่ติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ผืนหลังคา ฝ้าเพดาน หรือผนัง



ภาพ: การติดตั้งฉนวนใยแก้วกันความร้อนเพื่อเพิ่มค่า R ให้ระบบผนัง ทำให้สามารถป้องกันความร้อนได้มากขึ้น

ติดฉนวนแล้วทำไมยังร้อน ?
        การที่บ้านจะร้อนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สำหรับบ้านที่ติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่หลังคาหรือฝ้าเพดานก็จะช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดที่สองหลังคาไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ แต่อย่าลืมว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นในบ้านอาจมาจากส่วนอื่นได้ด้วย อย่างความร้อนจากแสงแดดที่ส่งผ่าน ผนัง ประตูหน้าต่าง หรือความร้อนจากการทำกิจกรรมในบ้าน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ ฉนวนกันความร้อนที่ติดตั้งนั้น นอกจากจะป้องกันไม่ให้ความร้อนจากนอกบ้านเข้าสู่ภายในบ้านแล้ว ความร้อนที่อยู่ภายในบ้านก็จะถูกฉนวนป้องกันไม่ให้ออกนอกบ้านด้วยเช่นกัน หรือพูดได้อีกอย่างว่า “ความร้อนไม่ได้ถูกระบายออกจากตัวบ้าน” จึงทำให้บ้านร้อนแทนที่จะเย็นนั่นเอง                     

        ติดฉนวนอย่างไรให้บ้านเย็น ?
        แม้การติดฉนวนกันความร้อนที่หลังคาจะช่วยป้องกันความร้อนจากบริเวณหลังคาได้ แต่ในขณะเดียวกัน ความร้อนจากส่วนอื่นๆ ก็ควรป้องกันด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากผนัง โดยเฉพาะด้านที่โดนแดดแรงควรทำเป็นผนังทึบด้วยวัสดุที่มีค่า R สูง ไม่อมความร้อน และอาจติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติม ด้วย สำหรับผนังส่วนที่จำเป็นต้องใช้กระจกใส อาจลดความร้อนโดยติดตั้งแผงบังแดดเพิ่ม ติดฟิล์มช่วยกันความร้อนบนกระจก นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยลดความร้อนได้ อย่างการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาบังแดด การเลือกใช้วัสดุที่มีค่า R สูง และไม่อมความร้อน เป็นต้น

        อีกเรื่องสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ การจะทำบ้านในเมืองร้อนให้เย็นได้นั้น “ควรมีการระบายอากาศที่ดี” เพื่อให้ความร้อนภายในบ้านสามารถระบายออกไปนอกบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้าต่างที่เพียงพอในตำแหน่งเหมาะสม การทำช่องทางระบายอากาศ
บริเวณหลังคา (ติดตั้งฝ้าชายคาแบบมีรูระบายอากาศหรือทำเป็นระแนงเพื่อระบายอากาศ) เป็นต้น ทั้งนี้ หากบ้านติดตั้งอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะมาก อาจใช้อีกทางเลือกซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย คือ การปิดบ้านให้มิดชิดโดยติดตั้งอุปกรณ์ที่ดึงเอาอากาศจากภายนอกมาใช้ในบ้านผ่านระบบกรอง จากนั้น อากาศที่ใช้แล้วพร้อมความร้อนจะถูกปล่อยทิ้งออกไปนอกบ้าน



ภาพ: ฉนวนทำหน้าที่ป้องกันความร้อนจากภายนอกไม่ให้เข้ามาในบ้าน ขณะเดียวกัน ความร้อนภายในบ้านก็ไม่สามารถออกไปได้ด้วยเช่นกัน

        จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาบ้านร้อนอาจไม่ใช่แค่การติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนในการป้องกันความร้อนในบ้านให้ครอบคลุม รวมถึงระบบระบายอากาศที่ดีเพื่อให้ความร้อนระบายออกไปจากบ้านได้ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้อุณหภูมิในบ้านลดลง ทำให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบายมากขึ้น รวมถึงช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศได้ด้วย



17K   Favorite   Print   Share  
            Change Password Change Password link-social signin-popupnew downloadplan-popupnew