จัดสวนทิศตะวันตกอย่างไรให้บ้านเย็น
เคล็ดลับน่ารู้

จัดสวนทิศตะวันตกอย่างไรให้บ้านเย็น

20.6K

5 พฤษภาคม 2567

จัดสวนทิศตะวันตกอย่างไรให้บ้านเย็น

"การจัดสวน หากเลือกตำแหน่งและจัดองค์ประกอบภายในสวนให้ดี สวนก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้บ้านเย็น เพิ่มความสดชื่นและน่าอยู่ให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี"



        เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของเมืองไทยอย่างเป็นทางการสักทีค่ะ หลังจากที่ปีที่ผ่านมามีฤดูหนาวอันยาวนานให้ได้เย็นใจกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่คนโบราณว่ากันว่าหากฤดูหนาวปีไหนยาวนานปีนั้นจะแห้งแล้ง ซึ่งเราก็เห็นวี่แววว่าจะเป็นจริงจากสายฝนที่ทิ้งช่วงนาน และแน่นอนว่าเมื่อฝนไม่ตกอากาศย่อมร้อนระอุ และเหล่าต้นไม้ต้องขาดน้ำและทิ้งใบเป็นวัฏจักร เมื่อไม่มีร่มเงาของต้นไม้คอยบังแดด ความร่มเย็นในสวนก็ห่างหาย บ้านก็ต้องป้องกันและระบายความร้อนออกจากตัวอาคารในช่วงกลางวัน เพื่อให้อุณหภูมิในช่วงเวลากลางคืนเหมาะสำหรับพักผ่อนนั่นเอง

        อากาศร้อนๆ ส่งผลกระทบต่อสวนโดยตรง ยิ่งหากมุมสวนของบ้านตั้งอยู่ในทิศตะวันตกด้วยแล้ว ยิ่งต้องดูแลเป็นการใหญ่ ซึ่งอย่างที่เข้าใจกันดีว่า “สวนช่วยให้บ้านเย็น” ตำแหน่งของสวนจึงมักถูกวางให้บังความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคารโดยตรง นั่นคือทิศตะวันตก แม้จะเป็นมุมที่ไม่เป็นต่อผลดีต่อต้นไม้สักเท่าไหร่ แต่การจัดสวนในทิศนี้ก็เป็นอีกทางแก้ปัญหาให้บ้านเย็นได้ ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีวิธีไหนช่วยให้สวนเย็นบ้านเย็นในฤดูร้อนกันบ้าง

ข้อดีข้อเสียของสวนทิศตะวันตกทิศตะวันตก
เป็นตำแหน่งที่รับแสงแดดในช่วงบ่ายของวัน ซึ่งเป็นแดดแรงและยาวนานถึง 6 ชั่วโมง ในการออกแบบบ้านจึงนิยมเหลี่ยงการใช้งานพื้นที่ส่วนนี้ในช่วงเย็นและมักถูกออกแบบให้ห้องน้ำอยู่ในตำแหน่งนี้ และแยกห้องนอนให้ห่างด้วยว่าเป็นพื้นที่ใช้งานในช่วงเย็นของวัน ซึ่งตกดึกผนังซีเมนต์จะคายความร้อน ส่งผลให้ห้องนอนมีอากาศร้อนอบอ้าวทำให้หลับไม่สบาย

        ตำแหน่งของสวนก็เช่นเดียวกัน หากอยู่ในทิศตะวันตกแล้ว สวนจะทำหน้าที่บังแดดแรงในช่วงบ่ายของวันพร้อมๆ กับทำหน้าที่จับฝุ่นละอองไม่ให้พัดปลิวเข้าสู่ภายในบ้าน หากจัดสวนในมุมนี้จะช่วยให้มีพื้นที่ใช้งานในช่วงบ่ายของวันโดยที่ไม่ต้องอยู่ในบ้านเพียงอย่างเดียว ส่วนข้อเสียที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความร้อนของแดดที่พร้อมจะทำลายต้นไม้แสนรัก การเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและการวางระบบน้ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ 

 

เพิ่มกำแพงต้นไม้ช่วยบังความร้อนอีกชั้นก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน

ร่มเงาของต้นหูกระจงที่มีใบเล็กละเอียดช่วยให้สวนดูโปร่งขึ้น ช่วยบังแสงแต่ไม่บังลม

บ่อน้ำในสวนทิศตะวันตก ควรมีความลึกอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำสะท้อนแสงแดดเข้าสู่อาคาร

ระยะห่างของต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรปลูกชิดกันจนเกินไป และควรมีไม้ค้ำเพื่อพยุงลำต้น ป้องกันไม้ล้มในช่วงเริ่มปลูก

ดับร้อนในสวนด้วยวิธีง่ายๆ

1. ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่ม

        ลองวัดระยะความห่างของที่ดิน จากมุมกำแพงรั้วไปถึงผนังบ้าน หากมีความยาวไม่ต่ำกว่า 3 เมตร การปลูกต้นไม้ใหญ่ก็ไม่ใช่ปัญหา การปลูกต้นไม้ใหญ่ในสวนนั้นมีหลักการไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เลือกชนิดต้นไม้ที่ชอบ อาทิ ไม้ผล ไม้ดอกหอม หรือไม้ฟอร์มสวย ตามที่ตนเองต้องการ จัดปลูกในตำแหน่งที่ห่างจากผนังบ้าน แล้วเว้นระยะห่างจากรั้วไม่ต่ำว่า 1 เมตร ระวังกิ่งก้านยื่นออกไปยังบ้านข้างๆ ด้วยการหมั่นคอยตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ หากเป็นไม้ล้อมควรติดไม้ค้ำเพื่อพยุงไม่ให้ต้นไม้ล้ม จนสร้างความเสียหายให้กับอาคาร ต้นไม้ใหญ่ที่นิยมปลูกในสวน ส่วนใหญ่จะเป็นไม้มงคล อย่าง ต้นจิกน้ำ ต้นพะยอม ต้นสาละ ต้นอโศกอินเดีย ต้นปีบ ต้นราชพฤกษ์ หากที่ดินมีขนาดไม่กว้างมากควรเลือกไม้ใหญ่ที่มีใบน้อยและฟอร์มสูง อย่างต้นปาล์ม กล้วยพัด หมากเขียว หลิวจีน หรือจะเป็นไม้ยอดนิยมอย่างหูกระจงก็เหมาะสม สิ่งที่ไม่ควรลืมคือตำแหน่งที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ไม่ควรเป็นทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศที่มีลมพัดผ่าน หากจำเป็นต้องวางตำแหน่งดังกล่าวควรเลือกปลูกต้นไม้ที่มีใบน้อยหรือรูปใบละเอียดเพื่อไม่ให้กิ่งก้านบดบังสายลมที่จะพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

2. น้ำใสๆ เย็นสบาย

        แค่เสียงไหลรินของสายน้ำก็ชวนให้ผ่อนคลายโดยที่ไม่ต้องสร้างสิ่งใดให้ยุ่งยาก แต่ที่มากไปกว่านั้นคือน้ำช่วยดับร้อนในสวนได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการตกแต่งอย่างน้ำตก น้ำพุ สระว่ายน้ำ และระบบรดน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการจัดสวน ไม่ว่าจะเป็นสปริงเกลอร์ระบบอัตโนมัติที่ตั้งเวลาทำงานได้เองและยังกระจายในจุดต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง หรือจะเป็นการรดน้ำโดยใช้สายฉีดแบบธรรมดา ซึ่งเหมาะกับสวนขนาดเล็ก น้ำเพื่อการตกแต่งในสวน จำเป็นต้องวางในตำแหน่งที่เหมาะสม คืออยู่ในทิศที่ลมพัดผ่านเข้าสู่ตัวอาคารจะได้ไอเย็นๆ จากน้ำช่วยให้บ้านเย็นขึ้น หากเป็นสระน้ำ สิ่งที่ต้องระวังคือความลึกของสระ โดยเฉพาะที่อยู่ในทิศตะวันตก หากตื้นสั้นน้ำจะสะท้อนความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง แต่หากมีความลึกอย่างน้อยคือ 1 เมตร สระน้ำจะเป็นตัวป้องกันความร้อนให้ตัวอาคารโดยดูดความร้อนลงสู่ก้นสระและระเหยเป็นไอเย็นออกมา บ่อปลาก็เช่นเดียวกันควรลึก 1.50 เมตร ซึ่งเป็นความลึกที่เหมาะสำหรับเลี้ยงปลาคาร์ปด้วย

3. สร้างรั้วบังแดดแต่รับลม

        ตามกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่ารั้วของบ้านจะต้องสูงไม่เกิน 3 เมตร หากว่ากันตามจริงแล้วความสูง 3 เมตรนั้นปิดบังสายตาจากภายนอกได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียก็มี นั่นคือรั้วจะบังลมไม่ให้พัดเข้าสู่ภายในบ้าน ส่วนใหญ่การทำรั้วจึงมักจะสร้างโดยใช้ระแนงร่วมกับกำแพงคอนกรีต วัสดุที่ใช้ทำระแนงก็มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไม้แท้ ไม้สังเคราะห์ เหล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถบังความเป็นส่วนตัวให้มิดชิดยิ่งขึ้นด้วยกำแพงต้นไม้ซึ่งเป็นที่นิยมในการจัดสวน ต้นไม้ที่นิยมปลูกได้แก่ ไทรเกาหลี ไทรอินโด โมก ชาฮกเกี้ยน ไผ่ เป็นต้น

4. ใช้สวนแนวตั้งบังร้อน

        หากมีพื้นที่แคบแต่อยากได้พื้นที่สีเขียว คงไม่มีอะไรเหมาะเท่ากับสวนแนวตั้ง ซึ่งได้ความงามในหลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปแล้วสวนแนวตั้งแบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบโมดูล่า ซึ่งเป็นสวนแนวตั้งแบบสำเร็จรูปติดตั้งทั้งระบบ แบบกระถางถอดประกอบ ซึ่งมีโครงเป็นช่องตารางสามารถถอดเปลี่ยนต้นไม้ได้ และสุดท้ายคือแบบที่ยึดติดกับผนังอาคาร ซึ่งมักจะออกแบบให้เป็นเหมือนผาหินธรรมชาติมีต้นไม้ขึ้นแซมประดับ สิ่งสำคัญคือระบบน้ำ แสงแดดแรงๆ ในช่วงบ่ายจะส่องกระทบกับเหล่าต้นไม้โดยตรง จึงควรให้น้ำอย่างน้อยสองครั้งต่อวัน คือช่วงเช้าก่อน 8.00 น.และช่วงเย็นหลัง 16.00 น. โดยช่วงเย็นให้รดเพียงชุ่มเท่านั้น ระวังอย่าให้แฉะเพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรครากเน่าได้

5. ผนังสีเขียวสบายตา

        นอกจากจะเป็นหนึ่งในการตกแต่งสวนที่สามารถอำพรางผนังคอนกรีตที่ดูแข็งกระด้างให้ดูสบายตาขึ้น การสร้างผนังต้นไม้ให้บ้านยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้บ้านเย็นลงถึง 1-2 องศา ต้นไม้ที่นิยมปลูกกันคือต้นตีนตุ๊กแก ไม้เลื้อยที่ดูแลง่ายและปลูกได้ทั่วทุกภาคในเมืองไทย แต่ด้วยธรรมชาติของรากต้นไม้คือการยึดเกาะ รากต้นตีนตุ๊กแกจึงมักยึดติดผนังบ้านและเกิดรอยร้าวในตอนถอนรื้อ วิธีป้องกันแต่เนิ่นๆ คือรองแผ่นตะแกรงลวดอีกชั้นเพื่อให้รากได้เกาะลวดตะแกรงแทนผนังนั่นเอง นอกจากผนังต้นตีนตุ๊กแกแล้วยังมีไม้เลื้อยอีกชนิดที่สามารถปลูกให้เลื้อยตามผนังบ้านได้คือ ต้นเหลืองชัชวาล เหลืองชัชวาลจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน ในเวลาเพียง2 สัปดาห์เท่านั้น ดอกสีเหลืองสดช่วยสร้างความตื่นเต้นให้ผนังบ้านได้มากทีเดียว

6. เลือกวัสดุช่วยดูดความร้อน

        ทางเดินซีเมนต์รอบๆ บ้าน หรือลานจอดรถ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บ้านร้อนขึ้น ด้วยว่าซีเมนต์จะเก็บความร้อนในช่วงบ่าย แล้วค่อยๆ คายความร้อนในช่วงดึก และทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น วัสดุที่ทำจากซีเมนต์ที่เห็นกันบ่อยๆ ก็เช่น แผ่นทางเดิน บล็อกปูพื้น ลานทำกิจกรรม ลานจอดรถ เป็นต้น การแก้ปัญหาทำได้ง่าย เพียงแค่เลือกบล็อคปูพื้นที่สามารถดูดเก็บความชื้นได้ในขณะที่รดน้ำต้นไม้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเจ้าบล็อคปูพื้นที่ว่านี้จะค่อยๆ คายความเย็นออกมาซึ่งจะช่วยลดความร้อนของแดดแรงในตอนบ่ายของวันได้ ช่วยลดอุณหภูมิให้บริเวณนั้นได้ถึง 3-5 องศา เพียงเท่านี้ทั้งสวนและบ้านก็จะเย็นขึ้น การแก้ปัญหาสวนร้อนบ้านร้อน เป็นสิ่งที่สามารถวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มจากขั้นตอนของการออกแบบ การวางตำแหน่งของอาคาร ดูทิศทางแสงทิศทางลม หากมีการออกแบบที่ดีปัญหาเรื่องความร้อนในการพักอาศัยก็จะน้อยลง การจัดสวนก็เช่นกัน หากเลือกตำแหน่งองค์ประกอบในสวนให้ดี เหมาะสมกับการใช้งาน สอดคล้องกับความสวยงามที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ สวนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านเย็นและเป็นตัวชูโรงให้บ้านสดชื่นน่าอยู่ด้วย 

  

ระบบรดน้ำสปริงเกลอร์แบบพ่นหมอก ไอเย็นๆ จะช่วยให้สวนเย็นสบาย แต่ต้องระวังเรื่องความชื้นหากมาเกินไปจะทำให้บ้านเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา

ปลูกต้นไทรเกาหลีเป็นรั้วธรรมชาติ ช่วยบังสายตาจากภายนอกและยังมีช่องอากาศให้ลมพัดเข้าสู่ภายในบ้านด้วย

ใช้สวนแนวตั้งเป็นตัวบังแดดแรงในช่วงบ่าย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสวนพื้นที่แคบ

สวนแนวตั้งแบบกระถางถอดเปลี่ยน เป็นระบบสวนที่ทำเองได้ง่ายแต่ต้องหมั่นดูแลรดน้ำต้นไม้และเปลี่ยนกระถางอยู่เสมอ

ต้นเหลืองชัชวาลไม้เลื้อยที่ปลูกคลุมผนังบ้าน ช่วยให้ได้ผนังสีเขียวที่สบายตา

ผนังต้นตีนตุ๊กแก ดูเขียวสบายตาและยังช่วยให้ผนังบ้านเย็นสบายได้อีกทาง

แท็กที่เกี่ยวข้อง